Wednesday, December 12, 2007

บ้านของฉัน

เมื่อหลายเดือนก่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย สิ่งที่ได้เห็นทำให้รู้สึกว่าเล็กๆน้อยๆที่เป็นสิ่งที่คนเรามองข้ามไป กลับเป็นสิ่งที่ไม่น่าเผลอเลอผ่านเลยไปด้วยเป็นสิ่งที่จะช่วยสอนลูกหลานให้รู้จักภูมิปัญญาของคนโบราณอีกทั้งเทคนิคต่างๆ ก็มีที่มาที่ไป ไม่สมควรจะไปมองข้าม อย่างน้อยที่สุดลูกหลานจะได้รู้ประวัติศาสตร์และสืบทอดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่สวยงามให้จรรโลงอยู่สืบต่อไป
พิพิธภัณฑ์ที่เราเข้าไปดู เขาเก็บค่าผ่านประตู 1 ริงกิต เทียบเงินไทยก็ประมาณ 10-12 บาท บ้านเก่าที่เป็นพิพิธภัณฑ์เป็นวังโบราณที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง แบบสถาปัตยกรรมก็ดูโบราณและเป็นไปในแบบของมลายู ชวา ด้วยหน้าบันและยอดจั่วที่เป็นสไตล์บานอผสมกับชวาด้วยลายพันธุ์พฤกษาไม้เลื้อยบอกถึงความอ่อนโยนละเอียดอ่อนของผู้คน ด้วยศิลปะที่มองเห็นและสามารถซึมซาบได้ ถ้าเป็นลายกาแล หน้าจั่วของไทยทางภาคเหนือ ก็อาจจะมีลวดลายแกะสลักที่สวยงามเช่นกันแต่ก็นิยมที่จะเอานักษัตรที่เป็นสัตว์ตามเดือนเกิดของผู้อยู่อาศัยมาแกะสลักตกแต่งด้วยแต่ชนชาวมุสลิม จะไม่นิยมนำสัตว์มาประดับบ้านเรือน การตั้งชื่อคนก็จะไม่เอาชื่อ ไก่ กบ หมู ม้า กวาง มาตั้งชื่อเช่นกันด้วยเป็นการจัดลำดับชนชั้นของคนและสัตว์แยกจากกันอย่างชัดเจน แล้วมักนิยมนำชื่อศาสดามาตั้งชื่อคนกัน เช่น ชื่อมูฮัมหมัด หรือ ยูซูฟ และอื่น ๆ หน้าจั่วหน้าบันของบ้านทรงมาเลย์ก็จะอนุโลมให้มีได้คือการแกะสลักลวดลาย พันธุ์พฤกษา (Floralist) แล้วมีอักษรภาษาอาหรับเป็นการให้ศีลให้พร คนที่ลอดผ่านเข้าไปให้อยู่ดีมีสุขให้โชคดีไม่มีภัยอันตราย อักษรที่นำมาแกะสลักก็จะพันไปกับลวดลายดูสวยแปลกตาดีเหมือนกัน แบบบ้านพิพิธภัณฑ์จากภายนอกเป็นบ้านทรงปั้นหยาใหญ่ภูมิฐานสมเป็นวังเก่า อีกทั้งมุขด้านบนทำเป็นทรงหกเหลี่ยมเปิดกว้างรับลม นัยว่าเป็นที่นั่งเล่นให้ทรงพระสำราญแล้วโปรดจะออกมาเยี่ยมหน้าดูประชาชนทั่วไป สถานที่ออกจะดูคับแคบไปทำให้ต้องย้ายวังไปอยู่ที่ใหม่ซึ่งมีเนื้อที่เพิ่มจากเดิมเป็น 100 เท่า เป็นสไตล์ยุโรปไปแล้ว ที่เดิมจีงควรอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ดูกัน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศอื่นๆได้แวะเวียนมาซึมซับอารยธรรมเก่ากันให้ดื่มด่ำกันไป เมื่อเราผ่าน entrance ประตูทางเข้าโดยทางการท่องเที่ยวมาเลเซียออกค่าใช้จ่ายในการเข้าชมให้ทั้งหมดเข้าไป ก็จะเห็น การจัดวางพิธีการแต่งงานแบบมาเลเซีย มีคู่บ่าว-สาวที่ทำเป็นหุ่นนั่งอยู่บนบังลังค์ทอง มีม่านห้อยย้อยระย้าสวยงามแม้แต่ม่านก็ทำมาจากลูกไม้จากประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งที่เท้าก็จะมีหมอนทองที่จัดทำรองใต้เท้าของคู่บ่าวสาว ชุดที่สวมใส่ก็เป็นชุดแบบโบราณประดับด้วยเลื่อมลายทอง ริบบิ้นทองดูแล้วสวยแปลกตาอลังการ์จริง ๆ เครื่องประดับบนศีรษะผู้ชายก็จะเป็นผ้าตาดทองโพกศีรษะ บางที่ก็จะนำผ้าซองเก็จที่สอดดิ้นทองมาพันประดับ แล้วก็จะเข้าชุดกันไปทั้งผ้าถุงคลุมสะโพกที่จะเป็นผ้าชนิดเดียวกันกับผ้าโพกศีรษะ ที่เอวก็จะเหน็บกริชเอาไว้ คงมีโอกาสได้พูดเรื่องกริชกันอีกครั้งเพราะอิทธิพลทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับอิทธิพลจากชวามามากเช่นกัน สำหรับสตรีก็จะนำผ้าตาดทองหรือผ้าซองเก็จมาประดับร่างกายเช่นกันเป็นชุดยาวที่ตัดเย็บอย่างประณีต แขนเสื้อยาวถึงข้อมือ กระโปรงยาวคลุมข้อเท้า ชายเสื้อยาวคลุมสะโพก เรียกเป็นชุดกุรง หรือ บานง ซึ่งบานงจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะคือกระโปรงต้องเป็นจีบหน้านางแหวกถึงเข่าจีบผ่าหน้าต้องมีความกว้าง 1.50 นิ้ว เกินกว่านี้ถือว่าผิดจากการเป็นบานง อีกทั้งเสื้อต้องเป็นคอวี และมีลิ้นปิดที่หน้าอก กระดุม 5 เม็ดซึ่งกระดุมจะทำพิเศษเฉพาะคือเป็นลวดลายกระดุมทอง บ้างก็ใช้ทองฝังพลอยนพรัตน์ หรือหากมีฐานะก็จะเป็นกระดุมฝังทับทิบ หรือเพชรแล้วแต่ว่าจะจัดหาได้ เครื่องตกแต่งบนศีรษะฝ่ายหญิงจะค่อนข้างแวววาว ด้วยดอกไม้ไหวสีทอง แยกเป็นลวดลาย เป็นแฉก เป็นปิ่นเสียบที่มีความสวยงามแล้วแต่จะจัดตกแต่ง ฝ่ายเจ้าสาวมักจะนิยมเกล้าผมเป็นมวยต่ำแล้วประดับเครื่องปิ่นและดอกไม้ไหวสีทองรับกับต่างหูและสร้อยคอ สร้อยข้อมือ สิ่งที่เราเห็นถัดมาก็คือ ของสำหรับหมั้นหรือสำหรับสู่ขอเจ้าสาว จะประกอบด้วยเงินสดที่จะนำมาพับจัดเป็นช่อดอกไม้ ดอกหนึ่งๆ ก็อาจจะมีเงินริงกิตประมาณ 5-7 ใบ แล้วแต่ว่าจะเป็นแบงค์ใบล่ะ 1ริงกิตหรือเท่ากับเงินไทย 10-12 บาท หรือ 10 ริงกิต 100 ริงกิต ก็แล้วแต่ฐานะของเจ้าบ่าว นอกจากดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ที่จัดช่ออย่างสวยงาม และช่อดอกไม้ที่เป็นธนบัตรแล้ว ก็จะมี รองเท้า ผ้าสำหรับตัดเสื้อผ้าทั้งของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว รวมไปถึงของที่ทำเลียนธรรมชาติที่ทำมาจากน้ำตาล มาปั้นหรือมาใส่ถุงแล้วมัดรวมเป็นมังคุด พวงองุ่น กล้วยทั้งหวี ดูสวยแปลกตา สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับงานแต่งงานคือข้าวเหนียวที่เขาจะมูลแล้วนำสีต่างๆ มาย้อมให้สวยงาม สีที่ใช้ก็จะมาจากธรรมชาติ ทั้งเหลืองจากขมิ้น ม่วงจากดอกอัญชัญ ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ดอกอัญชันเป็นสีม่วงคือ การบีบมะนาวลงไปให้กรดกัดสีให้สวยงาม สีขาวจากข้าวเหนียวธรรมชาติ และสีแดงจากการย้อมสีผสมอาหารลงไปแล้วนำข้าวเหนียวมาอัดลงไปในพิมพ์รูปดอกไม้หรือรูปหัวใจตกแต่งเป็นชั้นอย่างสวยงามน่าชื่นชมกับงานฝีมือ นอกจากนี้ก็ยังมีพวกหมอน ผ้าปูที่นอนและอื่นๆ ที่สามารถทำให้คู่บ่าว-สาวได้สามารถอยู่อาศัยในครอบครัวเหมือนกับการได้ขึ้นบ้านใหม่ อันนี้ก็คงเป็นกุศโลบายของคนแก่ๆ ที่ช่วยเหมือนอุ้มสมให้ไม่ต้องเสาะหาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆมากนัก อีกสิ่งที่เห็นคือขนมหวาน ถ้าเป็นแบบไทย ๆ เราก็คงเป็นขนมที่เป็นเครื่องมงคล เป็นพวกตระกูลทองทั้งหมด ทั้ง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ถ้วยฟู ขนมชั้น เป็นต้น แต่ทางมาเลเซียก็จะนิยมนำขนมอบ โดยอบให้เป็นสีทองแล้วราดด้วยน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม นัยว่าให้ความรักหวานชื่นไปนาน ๆ พวกเราเดินผ่านภาพพิธีแต่งงานไปทางซ้ายมือของบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็พบกับห้องนอนที่จัดไว้สวยงามมีหุ่นที่ใส่ชุดประจำชาติชาย-หญิงอีกอย่างละชุด เตียงที่มีการจัดดึงผ้าปู มุ้งกลมบนเพดาน โคมไฟแบบโบราณที่ดูสวยงามหาได้ยากมีลวดลายที่มองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นของยุโรปทั้งหมด บ้านเก่า เราก็มีนี่นาแบบนี้ บนชั้นสอง ห้องที่เจอเป็นห้องสำหรับเตรียมคลอดบุตร เออนะ ข้างล่างแต่งงานสร้างครอบครัวแล้วก็มีห้องสำหรับคลอดบุตรที่เห็นก็จะมีผ้า อ้อม มีเชือกแขนโยงจากขื่อ มีอ่างน้ำใบย่อม มีเหยือกน้ำ มีกาน้ำร้อน มีเสื่อ และมีดที่คล้ายๆ กับมีดปอกหมากบ้านเรา มีรวงข้าว มีเข็มมีด้าย และมีกระจาดหรือเรียกว่ากระด้งดีนะ ดูแล้วคิดถึงวรรณคดีไทยบางเรื่องที่บรรยายถึงการคลอดลูกโดยหมอตำแยแบบโบราณวัฒนธรรมประเพณีได้รับการสืบทอดถ่ายทอดต่อกันด้วยความใกล้ชิดของประเทศและปนเปกับความเชื่อตามตำนาน เข็มคงบอกให้เด็กมีความฉลาดแหลมคม รวงข้าวคงให้มีกินไปตลอด เหล่านี้เป็นต้น ห้องถัดไปเป็นห้องเลี้ยงเด็กที่หลักๆ ก็จะมีเปลสำหรับเด็กที่จัดไว้สำหรับเด็กหญิงและเด็กชายแยกได้ตามสี ไม่รู้ว่าใครเป็นคนบัญญัตินะว่า เด็กชายต้องเป็นสีฟ้า เด็กหญิงต้องเป็นสีชมพู อะไรแบบนี้ ทำให้ไม่ค่อยน่าสนใจไม่มีอะไรแปลก อีกห้องเป็นห้องสำหรับอ่านอัลกุรอ่าน ถ้าหากเป็นในไทยคงเป็นห้องพระ สำหรับห้องนี้ก็จะไว้สำหรับอ่านอัลกุรอ่านที่มีความเชื่อว่าหากได้อ่านมากเท่าไรก็ได้บุญมากเท่านั้น รวมไปถึงสามารถทำการละหมาดได้ในห้องนี้ด้วย การละหมาดวันละ 5 เวลาของคนมุสลิม นับว่าเป็นกุศโลบายในการพักผ่อนการรีแล็กซ์ให้คลายเครียดและได้ตั้งสติสมาธิในการทำงานใหม่ อีกทั้งเป็นการรักษาอนามัยของตัวเองด้วยว่าก่อนละหมาดจะต้องมีการทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดก่อนที่จะสงบจิตใจสู่พระผู้เป็นเจ้าที่เป็นเอกะ เป็นหนึ่งเดียว การล้างน้ำละหมาดจะประกอบด้วยการล้างหน้าที่ต้องล้างไปจนถึงตีนผม รอบหน้า ล้างจมูกสามรอบ ล้างปากบ้วนปากสามครั้ง ล้างใบหูสามครั้ง แล้วก็มาล้างมือจนถึงข้อศอกให้สะอาดและสุดท้ายการล้างเท้าซื่งต้องเลยมาถึงหน้าแข้งหรือถ้าหัวเข่าได้ก็จะถูกต้องนัก หลังจากนั้นฝ่ายชายก็จะมาละหมาดรวบรวมสติสมาธิ ฝ่ายหญิงจะต้องมีผ้าเตรียมละหมาดโดยผ้าต้องปกปิดอวัยวะต่างๆ ยกเว้น ดวงหน้า และมือ ในการกราบก็จะมีท่านั่งคล้ายการพับเพียบ แล้วก็จะซูยุด คือการกราบที่จะต้องให้อวัยวะทั้ง 5 สัมผัสพื้น มีหน้าผาก มือเท้า ทั้งนี้ถือเป็นการเคารพอย่างสูงสุดแก่พระเจ้าพระองค์เดียว ชาวมุสลิมจะไปก้มกราบใครไม่ได้ หากจะทักทายด้วยการยกมือไหว้หรือทำความเคารพด้วยการก้มโค้งคำนับก็ไม่ผิดกติกา แต่ไงก็ตามห้ามกราบเด็ดขาด เพราะนั่นสำหรับองค์เอกะ เท่านั้น ห้องต่อมาเป็นห้องพักห้องนอนธรรมดา ที่น่าสังเกตของบ้านมุสลิมที่เป็นบ้านใหญ่ๆ ก็จะมีห้องมากมายอย่างที่วังยะหริ่งจังหวัดปัตตานีก็จะมีห้องมากมายจากการสอบถามก็จะบอกว่า มีภรรยาได้ 4 คน เลยต้องมีห้องมากและมีการแบ่งโซนกัน ฟังดูน่าขำดีบางครั้งนี้ก็ดูจะเป็นอุบายในการขยายเผ่าพันธุ์ได้เหมือนกัน แต่คนที่เข้าใจหลักศาสนาจริงๆ ก็จะทราบว่า การมีเพียงคนเดียวแล้วให้ความสุขความสบายแก่เพศหญิงทำได้ยากและควรทำให้คนที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากได้รับความสุขอย่างที่สุดก่อนประมาณว่ามีคนเดียวก็ปวดหัวจะตายไปแล้ว มาว่าเรื่องพิพิธภัณฑ์กันต่อนะคะ เส้นทางเดินนำเราออกมาที่ระเบียง หกเหลี่ยมมุขด้านหน้า ที่เห็นเป็นจุดสนใจคงเป็นเพดานที่มีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม ชายคาที่มีการแกะลายไม้ประดับเป็นเหมือนลูกไม้ที่ชายคาทั้งหลังอีกทั้งความปล่อยโล่งของมุข หกเหลี่ยมนี้ทำให้มีลมถ่ายเท สิ่งที่เห็นอีกอย่างก็เป็นโคมไฟอันโตตรงกลางมุขที่ดูสวยงามอีกเช่นเดิม พอจะสรุปบ้านพิพิธภัณฑ์นี้ว่า เป็นการรวมวิถีชีวิตของชนชาวมุสลิมมาเลย์ ไว้ให้รู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่เพียงแต่เป็นบ้านคหบดี อีกห้องที่ด้านล่างที่ถ้าไม่ไปคงไม่ครบความเป็นบ้าน คือห้องครัว อยากรู้นักว่าลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อเห็นก็จะรู้สึก อ๋อเช่นนี้เหรอ เตาถ่านปกติ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างใดการจัดวางก็เป็นแบบกำปง กำปง คือแบบ บ้าน บ้าน มีกระจาด หม้อ กะทะ ไหสำหรับใส่ข้าวสาร ถ่านสำหรับติดเตา ไม้คีบถ่าน กะทะตะหลิว และอื่นๆ ที่จะเป็นส่วนประกอบให้เกิดเป็นครัวได้ ไม่น่าสนใจแต่อาหารเที่ยงวันนี้สิ คงน่าสนใจ ท่านกงศุลใหญ่ประเทศไทยประจำรัฐกลันตัน มล.ตวง สนิทวงค์ฯ ท่านมาเตือนให้รีบไปที่ฝั่งตรงข้ามกับวังเล็กที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เช่นกัน โดยลูกหลานสุลต่านได้นำบ้านเก่าอีกหลังในพื้นที่เดียวกันมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แต่มีความร่วมสมัยคือ ในสมัยเจริญสัมพันธไมตรีกับหลาย ต่อหลายประเทศ เราจะไปเยี่ยมชมหลังมื้อเที่ยง
มื้อเที่ยงวันนี้ไม่ได้มีอาหารแปลกตาเราเลย ข้าวเกรียบปลา ข้าวยำ หรือ นาซิกาบู ซอและ(ปลาบดผสมเครื่องปรุงอัดใส่มาในพริกหยวกอันโต) น้ำซุป น้ำพริกผักจิ้ม และมัสมัน ข้าวสวยที่ตักเสริฟก็ไม่ได้หุงได้วิเศษกว่าบ้านเรา ทำให้ดูแล้ว อาหารทางมาเลย์ เป็นรองอาหารไทยหลายพันขุมนัก นี่ขนาดรับแขกวีไอพีที่เรามาจากคณะการท่องเที่ยวมาศึกษาดูงาน แล้วยังได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวกลันตันประจำมาเลเซีย รวมไปถึงในรั้วในวังมาต้อนรับ ทำให้รู้สึกออกจะขบขันกับเมนูที่เขาจัดให้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันเลย แต่ตอนนี้ท้องร้องแล้วก็หิวแล้วล่ะนะ ภาษาอังกฤษที่ใช้วันนี้ทำให้เริ่มหิวขึ้นเพราะใช้พลังงานมือในการอธิบายสอบถามไปมากมาย กินล่ะนะว่าแต่อยากมาลองกินด้วยกันป่าวล่ะ???
BY วรรณา เทลยูซัมธิ่ง

No comments: